
ทิรามิสุ (Tiramisu) ![]() ![]() ทีรามิสุ (Tiramisu) ฟังดูเหมือนสำเนียงญี่ปุ่น ทว่าเป็นของหวานเลื่องชื่อจากอิตาลีต่างหาก ร้านอาหารอิตาเลียนไม่ว่าจะไปสร้างชื่อเสียง หรือเปิดบริการ ณ มุมใดของโลก จะต้องมีของหวานที่ว่านี้เป็นการตบท้ายของมื้ออยู่เสมอ เรียกได้ว่าถ้าขาดไปเมื่อใดถือว่ามื้อพิเศษนั้นยังไม่สิ้นสุด หรือไม่ก็ขาดอรรถรสในการร่ำรสอาหารอิตาเลียนขนานแท้กันไปเลย และหากได้ลิ้มลองเมื่อใดรสชาติจะติดลิ้น และติดใจไม่รู้ลืมกันเลยทีเดียว
ทีรามิสุ (Tiramisu) เป็นภาษาอิตาเลียน ที่มีความหมายว่า “Pick me up” เพราะทีรามิสุเป็นเค้กที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังงาน จากส่วนผสมที่มีทั้งไข่ไก่ น้ำตาล และยังมีกาเฟอีนในปริมาณที่สูง จึงทำให้ผู้ที่ได้ชิมรสรู้สึกกระปี้ กระเปร่า หรืออาจจะมีอีกความหมายหนึ่งว่า “เลือกฉันซิ” แล้วคุณจะรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นประมาณนั้น
ทีรามิสุเรียกอีกอย่างว่า “Tuscan Trifle”เรื่องของต้นกำเนิดก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งอันที่จริงเรื่องต้นกำเนิดของขนมหวานเลื่องรสนี้มีมาอย่างไรนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพียงแต่เห็นปรากฏในตำราทำอาหารของกรีก บ้างก็ว่าเป็นขนมที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 10 กว่าปีนี้เอง โดยเกิดจากที่ “ปาตีซีแยร์” หรือคนทำขนมที่ชาวฝรั่งเศสเขาเรียกกันเห็นว่ามีคุกกี้ที่เหลือในตู้เย็นจนแข็งไม่น่ากินแต่ในใจก็นึกเสียดาย ว่าแล้วก็เกิดปิ๊งไอเดียด้วยการนำคุกกี้ที่ว่ามาแช่คาลัวส์ วางสลับกับครีมชีส จนได้เค้กที่แสนอร่อยในที่สุด บางตำราก็ว่าทีรามิสุเกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชากรประเทศอิตาลีประสบปัญหายากจน แล้วพวกเขาต้องออกสู้ในสนามรบ ภรรยาเลยนำเอาขนมปังกรอบมาผสมกับกาแฟให้สามีพกติดตัวไปรับประทาน เพราะเชื่อว่าด้วยส่วนผสมของขนมชนิดนี้จะช่วยเพิ่มพละกำลังให้กับพวกเขาได้รับชัยชนะ และจะได้กลับมาบ้านอย่างปลอดภัย หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อที่ว่าเวลาสามีได้ลิ้มรสขนมชนิดนี้ยามใด จะเหมือนต้องมนต์จนอดคิดถึงภรรยาสุดที่รักไม่ไหว จึงมีกำลังใจทำศึกเพื่อที่จะได้กลับบ้านไปหาเธอโดยเร็ว บ้างก็ว่าที่มาของ ทีรามิสุ ฉบับที่ใกล้เคียงมากที่สุดคือ เกิดในสมัย เรอเนซองส์ ที่เซียนาเมืองทัสคานี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี โดยได้มีผู้ปรุง “ซุปปา เดล ดุคา” ขึ้นถวายมหาดยุคกอสสิโม เด เมดิซี ที่ 3 และท่านดยุคได้นำกลับมาที่เมืองฟลอเรนซ์ด้วย ซึ่งเชื่อว่านั่นก็คือทีรามิสุนั่นเอง
ครั้นพอถึงศตวรรษที่ 19 ซุปปา เดล ดุคา กลายเป็นของหวานที่นิยมมากในหมู่ปัญญาชนและศิลปินชาวอังกฤษ ซึ่งพักอาศัยที่ฟลอเรนซ์ในขณะนั้น กลุ่มคนดังกล่าวเรียกซุปปา เดล ดุคา อีกอย่างว่า “ซุปปา อินกลีส” (Zuppa Inglese) เมื่อพวกเขากลับอังกฤษก็ได้นำซุปปา อินกลีสกลับไปด้วย ต่อมาซุปปา อินกลีสก็เป็นของหวานที่ชาวผู้ดีเขาชื่นชอบไปทั้งเกาะกันเลยทีเดียว
ความนิยมชมชอบซุปปา อินกลีส ยังแผ่ไปถึงเมืองเทรวิโซ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวนิสในจังหวัดแถบตะวันตกเฉียงเหนือของเวเน โต เทรวิโซ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องคลองสวย ภาพเขียนสีน้ำเป็นเลิศ และที่แน่ๆ คือ กลายเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อในเรื่องของทีรามิสุอีกด้วย ยังมีเรื่องเล่าสนุกๆ ที่ทำให้ทีรามิสุมีสีสันและน่าสนใจมากขึ้น หนึ่งในนั้นเล่าว่าในอดีตทีรามิสุเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาสตรีในราชสำนักของเวนิสมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะว่า Tiramisu แปลตามตัวได้ว่า Pick me up ที่แปลว่าคุ้นเคย สนิทสนม ซึ่งพวกเธอใช้เป็นรหัสลับยามเมื่อแอบพบกับชายชู้นั่นเอง
แม้แต่ในอเมริกาเอง ทีรามิสุเข้าไปครองใจผู้คนไม่ใช่น้อย ซึ่งเริ่มแพร่หลายในเมืองซานฟรานซิสโก และปัจจุบันนี้ทีรามิสุได้กลายเป็นเป็นส่วนหนึ่งในเมนูของร้านอาหารหลายร้านทั่วประเทศไปแล้ว เรียกได้ว่าถึงเวลานี้ทีรามิสุกลายเป็นของหวานที่ไม่ได้นิยมแค่ชาวอิตาเลียน แต่คนทั่วโลกที่มีโอกาสได้ลิ้มรสขนมชนิดนี้พากันติดอกติดใจในรสชาติถึงขั้นที่ยากจะลืมเลือน ทั้งนี้คงเป็นเพราะรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากส่วนผสมที่แตกต่าง อาทิ ไข่ไก่ ชีสมาสคาโปเนของอิตาลีที่ให้รสชาติออกมันๆ อมเปรี้ยวนิดๆ ที่ปลายลิ้น กับวิปปิงครีมนุ่มๆ ตัดกับรสเข้มของขนมปังเค้กสปองจ์หรือคุกกี้แบบนิ่มที่เรียกว่าเลดี้ฟิงเกอร์สลับเป็นชั้นที่ชุ่มฉ่ำด้วยกาแฟเอสเปรสโซที่ให้ความขมกำลังดี แถมยังเพิ่มดีกรีความอร่อยด้วยการผสมเหล้ามัลซาราลงไป จึงกลายเป็นของหวานมีระดับที่มีความอร่อยแสนจะลงตัว พอหลังๆ คนนิยมมากขึ้น ทีรามิสุก็ยิ่งมีการพัฒนาทั้งรสชาติและหน้าตาที่แตกต่างกันออกไปอีกมากมาย อาทิ ใครชอบกาแฟก็ใส่กาแฟหนักนิดหนึ่ง ส่วนคนไม่กินกาแฟเขาก็หันไปทำเวอร์ชันอื่นๆ กันแทน เช่น อาจจะใช้ โกโก้ หรือว่าช็อกโกแลตแทน ในช่วงที่ชาเขียวมาแรงก็เลยมีโอกาสได้ลิ้มลองทีรามิสุรสชาเขียว ที่อร่อยไปอีกแบบ ทีรามิสุยังมีอีกหลายสูตร บางสูตรก็ใส่ชีส บางสูตรก็ไม่ใส่ บางสูตรใส่ไข่ บางสูตรไม่ใส่ไข่ บางสูตรก็เพิ่มด้วยการใส่เหล้า เลือกความร้อนแรงได้ตามความต้องการกันเลย และทีรามิสุสามารถเสิร์ฟได้ในลักษณะที่เป็นแก้วหรือถ้วย และในแบบที่เป็นมูสเค้ก ก็แล้วแต่ความชอบ ว่ากันว่าถ้าอยากกินทีรามิสุให้อร่อยควรจะรับประทานในขณะที่เย็นจัด และอาจจะเพิ่มรสชาติด้วยการเสิร์ฟกับขนมปัง หรือผลไม้สด โดยเฉพาะสตรอเบอร์รีนั้นเข้าขากันนักแล
คนที่มีเสน่ห์ปลายจวัก หรือรักการเข้าครัว รวมทั้งมือสมัครเล่นยังหาเวลาว่างเข้าครัว ง่วนอยู่กับการทำทีรามิสุกันอย่างสนุกสนาน พอเชี่ยวชาญขึ้นหน่อย หรือรสมือดีจนคนยอมรับก็มักจะจัดมาเลี้ยงแขกเหรื่อเป็นการตบท้ายของมื้อพิเศษด้วยกันทั้งนั้น ทีนี้เชื่อหรือยังละครับว่าของหวานสัญชาติอิตาลีนามว่า ทีรามิสุ นี้ธรรมดาซะทีไหน ผู้ใดได้ลิ้มรสเป็นต้องติดอกติดใจและเรียกหาทุกครั้งที่มีโอกาส ส่วนใครที่ยังไม่ได้ลิ้มลองต้องรีบไปหารับประทานกันนะครับ เดี๋ยวจะโดนค่อนเอาได้ว่าเสียชาติเกิดที่ไม่ได้ลิ้มลองของดีๆ ...!
|
BLOG